รักแห่งสยาม

วันนี้ออกไปกินข้างกลางวันกันที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อเจ้าอร่อย ซึ่งต้องนั่งรถกันไปกิน หัวหน้าได้ขับรถพาน้องๆ ออกไปกิน ระหว่างที่กินก๋วยเตี๋ยวกันอยู่ ก็ได้พูดคุยกันถึงหนังที่แต่ละคนได้ไปดูมา บางคนไปดู “ฝัน หวาน อาย จูบ” มา ก็ให้ความเห็นว่าผิดหวัง เพราะนึกว่าจะดีเหมือน “รักแห่งสยาม”

หัวหน้าก็เลยบอกว่า “รักแห่งสยาม มันหนังเกย์นี่หว่า”

ลูกน้องตอบ “มันเป็นหนังครอบครัวนะ”

หัวหน้า “มันเป็นหนังเกย์”

เราก็เลยบอกว่า “มันเป็นหนังที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ดู ก็จะได้ข้อคิดเกี่ยวกับถ้าเรามีลูกเป็นเกย์ จะได้เข้าใจ ถึงสิ่งที่ลูกเป็น”

หัวหน้า “มันไม่ควรจะออกสื่อ เรื่องเกย์อะไรนี่ มาออกสื่อกันว่ายอมรับ ยอมรับ กัน อย่างเอากระเทยมาออก เอาเพื่อนมาสัมภาษณ์บอกว่ารับได้ไหม เพื่อนก็ตอบว่ารับได้ๆ พี่อยากถามว่า ถ้าเป็นลูกมันเป็น มันจะรับได้ไหมวะ”

เราเลยถามว่า “พี่ก็มีลูกน้องเป็นเกย์ (หมายถึงเราเอง) …”

หัวหน้าบอกว่า “มันคนละเรื่องกัน”

มันก็เลยทำให้เราเอามาขบคิดว่า มันก็ไม่ใช่ทุกคนจริงๆ นะ ที่จะยอมรับในคนแต่ละคนเป็น ไม่ใช่ว่าเค้าเป็นคนไม่ดีนะ ที่ไม่ยอมรับ แต่มันก็มีเรื่องอคติ มาขวางกั้นความเข้าใจไว้ เหมือนคล้ายๆ ไม่เป็น ไม่เจอ ก็ไม่มีวันเข้าใจหรอก

เหมือนโอเค เรายอมรับได้ถ้าเค้าเป็นลูกน้องเรา เป็นผู้ร่วมงาน แต่ถ้าเค้ามาเป็นลูกเรา เราไม่โอเค งั้นต้องลองถามตัวเองดูว่า “จะยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น หรือสิ่งที่อยากให้ลูกเป็น” คุณรับไม่ได้ถ้าเค้าเบี่ยงเบน คุณต้องทำไง เอาแส้ฟาดเค้าไหม

ถึงแม้ว่า Poll ในต่างประเทศจะออกมาว่า New polls show gay acceptance on the rise แต่เราว่ามันก็ยังทำให้คนที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมการ “ไม่ยอมรับ” มีปัญหา ไม่ใช่ว่าคนเป็นเกย์ มีปัญหานะ แต่คนรอบข้างที่ไม่ได้เป็นน่ะ “ทำให้เป็นปัญหา” มันก็เลยเป็นปัญหา

คนจะเป็นเกย์ ไม่ใช่ดูทีวีทุกวัน เห็นเกย์ในทีวีเค้าจะเป็นเกย์นะ มันมาจากจิตใจ ถ้างั้นเราถามกลับบ้างว่า หนังส่วนใหญ่ 98% เป็นหนังปกติ ช รัก ญ ปกติ เราดูตั้งแต่เด็ก ทำไมเราไม่เป็นคนที่ชอบ ช ล่ะ ถ้ามันจะมีอิทธิพลขนาดนั้น

สิ่งที่เป็นคืออะไร มันคือสิ่งที่คุณมองว่าเค้าเป็นอะไร เค้าเป็นเกย์ แต่เค้าเป็นลูกที่ดีหรือเปล่า เค้าเป็นเกย์ แต่เป็นคนดีในสังคมหรือเปล่า เค้าเป็นเกย์ แต่เป็นลูกน้องที่ดีหรือเปล่า การที่สื่อเอาเรื่องเกย์ออกมา แล้วอยากให้คนยอมรับ เพราะมันมีคนดูอีกมากมาย ในหลืบในซอกสังคม ที่ดูเหมือนจะไม่มีใครเข้าใจ ให้เค้ารับรู้ว่าเค้าไมไ่ด้อยู่คนเดียวในสังคม ให้คนได้มองโลกในอีกแง่ ที่เค้าอาจจะไม่เคยเจอเลย ในชีวิตประจำวัน การออกมายอมรับว่าเราเป็นเกย์ มันดีกว่าการที่เราต้องเสแสร้งแต่งงาน มีครอบครัว ทั้งๆ ที่เราไม่ต้องการ สื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า โลกเราไปถึงไหนแล้ว รสนิยมทางเพศไม่ใช่อุปสรรคในการพัฒนาสังคม

ชาย หญิง ตุ๊ด เกย์ กระเทย ทอม ดี้ ก็ต้องมีทั้งคนดี และคนไม่ดี แต่ก็อยากให้มองเป็นตัวบุคคลไป เพราะก็ไม่ใช่ว่าเป็น ตุ๊ด เป็นเกย์ เป็นทอม มันจะต้องแย่ไปซะหมด

พ่อแม่เรามีลูกเป็นเกย์ สิ่งที่เค้าบอกออกมาคือ “ลูกจะเป็นอะไร พ่อแม่ก็รัก ขอให้เป็นคนดีก็พอ” การอยู่ในครอบครัวที่มาจากความรัก ความเข้าใจ มันทำให้คนเติบโตมาเป็นคนดี ไม่ว่าเราจะเป็นแบบไหน

เคยมีพี่ผู้ชายคนหนึ่งที่เรารู้จัก เค้าเคยพูดไว้ว่า ถ้าพี่มีลูกเป็นเกย์ เป็นทอม เป็นดี้ เป็นกระเทย พี่ไม่ว่าหรอกนะ ขอแค่ให้เค้าเป็นคนดีก็พอ พี่คนที่พูดเป็นผู้ชายแบบแมนๆ มาก มีหนวดมีเครา ไม่น่าเชื่อว่าจะคิดแบบนี้

หนังรักแห่งสยามเป็นหนังดีนะ มันแสดงอารมณ์มากมาย ว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ จะเป็นไง คนเป็นลูกเองก็ไม่ได้อยากให้พ่อแม่ผิดหวัง แต่มันเป็นแบบนี้ไปแล้ว จะให้ทำอย่างไร

อยู่กันในสังคม ให้ผลงานกับความดีนั้น วัดคุณค่าในตัวคน มากกว่ารสนิยมทางเพศดีกว่า

Written by StraightForward

A Visual Designer with passion and love for art and design. Love to travel. Email: simple@straightforward.in.th

Website: http://www.straightforward.in.th

« »